คำนวณอัตราผลตอบแทน IRR อย่างง่าย เพื่อเลือกซื้อแบบประกัน
คุณกำลังจะหาซื้อประกันชีวิตอยู่ใช่ไหม? คุณกำลังจะออมเงินในรูปแบบประกันชีวิตใช่ไหม? คุณกำลังจะหาซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีใช่ไหม?
เดี๋ยวนี้การทำประกันชีวิตไม่ได้ต้องการแค่ความคุ้มครองชีวิตเท่านั้น
ที่เมื่อเราตาย แล้วคนที่อยู่ข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อนเพียงแค่นั้น
แต่การทำประกันชีวิตเดี๋ยวนี้ยังสามารถทำเพื่อออมเงินได้
หรือเราจะวางแผนทางการเงินให้มีเงินใช้ยามแก่เฒ่า ยามเจ็บป่วยก็ได้
เพราะอีกหน่อยประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการทำประกันชีวิตมากที่สุด
และญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ เมื่อมีประกันไว้ ก็จะมีเงินเพียงพอการดำรงชีพวัยเกษียณ
เราล่ะ…ถ้าไม่ทำประกันชีวิต ออมเงิน หรือวางแผนไว้ให้มีใช้เมื่อยามแก่เฒ่าคงไม่ได้
หรือจะหวังให้ลูกหลานเลี้ยง ก็หวังไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีมรดกหรือทรัพย์สมบัติ
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะดูแลเราไปจนตาย
เข้าเรื่องกันดีกว่า…
ปัญหาก็คือการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีให้เลือกเยอะแยะไปหมด
แล้วจะเลือกทำแบบไหนดีล่ะ…
ค่าที่นิยมใช้ในการตัดสินใจตัวหนึ่งก็คือค่า IRR ย่อมากจาก Internal Rate of Return
หรือภาษาไทยก็คือ อัตราผลตอบแทนภายใน
หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า อัตราผลตอบแทน ก็ได้
ค่า IRR สูง ก็แสดงว่าให้ผลตอบแทนสูง
บทความนี้จะสอนวิธีคำนวณค่า IRR ด้วย Excel อย่างง่ายๆ
สมมุติตัวอย่างประกันชีวิตสะสมทรัพย์ A (มีเงินคืน) 14/7
ระยะเวลาคุ้มครอง 14 ปี
ระยะเวลาจ่ายเบี้ย 7 ปี
จ่ายเงินคืนทุกปี ปีละ 4% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
เมื่ออยู่ครบสัญญา รับเงินคืน 110% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
สมมุติว่าต้องการทำประกันด้วยเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท
และจ่ายเบี้ยปีละ 20,000 บาท
เริ่มต้นเราสร้าง Cash Flow ใน Excel 6 คอลัมม์ ดังรูป
คอลัมม์ B เป็นปีที่…
คอลัมม์ C คือจำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายรายปี ซึ่งจ่าย 7 ปี ปีละ 20,000 บาท
คอลัมม์ D คือเงินที่ได้รับคืน ปีละ 4% ของเงินเอาประกัน 100,000 บาท คิดเป็น 4,000 บาท รับ 14 ปี
คอลัมม์ E คือเมื่ออยู่ครบสัญญา โดยที่ถ้าครบ 14 ปีแล้วไม่เสียชีวิตจะได้รับ 110% คิดเป็น 110,000 บาท
คอลัมม์ F คือในกรณีที่แบบประกันคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อน
ได้ไม่เกิน 100,000 บาท สมมุติฐานของเราเสียภาษีอยู่ที่ 10%
ดังนั้นถ้าเบี้ยรายปีเป็น 20,000 บาท จะสามารถลดหย่อนได้ 2,000 บาท
คอลัมม์ G คือเงินสดสุทธิ คำนวณจาก G = D + E + F – C
คอลัมม์ที่มีเครื่องหมาย * คือคอลัมม์ D, E และ F จริงๆ คือรับเงินปลายปีก่อนหน้า
เช่น รับเงิน 4,000 ใส่ในช่องปีที่ 2 แต่จริงๆ คือรับเงิน 4,000 ปลายปีที่ 1
แต่เพื่อให้คำนวณได้ จึงสมมุติว่ารับเงินต้นปีที่ 2
ทีนี้มาถึงขั้นตอนการคำนวณค่า IRR
เมื่อเราได้คอลัมม์เงินสดสุทธิแล้ว ในช่องล่างสุด ในตัวอย่างนี้คือเซลล์ G19
ให้ใส่สูตร = IRR(G4:G18) ดังรูป
เป็นอันเรียบร้อย ซึ่งโดยปกติเราจะปรับรูปแบบให้แสดงจุดทศนิยม 2 ตำแหน่ง
ซึ่งตัวอย่างนี้คำนวน IRR ได้ 3.21%
แต่…
การคำนวณค่า IRR คำนวณบนพื้นฐานการมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา
ไม่ได้คำนวณผลตอบแทนที่เกิดจากการเสียชีวิต
บางแบบประกันอาจให้เงินทุนประกันที่เกิดจากการเสียชีวิตมากกว่า 100%
ดังนั้น…
ค่า IRR เป็นเพียงค่าหนึ่งที่ใช้วัดผลตอบแทนในกรณีที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น
ไม่ได้เป็นตัววัดว่าแบบประกันไหนดีกว่ากันหากความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตไม่เหมือนกัน
โหลดไฟล์ตัวอย่าง ที่นี่
Aj.Montri