fbpx

พัฒนาเกมลง  iOS ด้วย Swift และ SpriteKit ตอนที่ 1 การพัฒนาเกมบนมือถือ

ด้วยปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือนับเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แทบจะมีโทรศัพท์มือถือกันทุกคน อีกทั้งโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอยู่ ก็ไม่ได้เป็นแค่โทรศัพท์ที่โทรเข้า-ออกได้อย่างเดียว มันยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง เช่น เล่นเน็ต แชทคุยกัน ถ่ายรูป ดูวิดีโอ ท่องโลกโซเชียล และเล่นเกม

เกม เป็นหนึ่งในกลุ่มแอพพลิเคชั่นที่ขายดีจนกระทั่งใน iOS 11 แยกเกมออกมาจากแอพพลิเคชันทั่วไป

เกมมือถือ มีบทบาทต่อชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยเพราะมันทำให้เราสนุก เพลิดเพลิน ฆ่าเวลาได้ และเกมมือถือเดี๋ยวนี้สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัยจริงๆ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงคนอายุ 60 กว่าก็ยังมีเล่นเกมให้เห็นอยู่ทั่วไป

เกริ่นมาซะยาว เพื่อที่จะเข้าเรื่องบทความซีรีย์นี้คือบทความชุด พัฒนาเกมลง iOS ด้วย Swift และ SpriteKit ซึ่งในบทความชุดนี้จะเขียนถึงการพัฒนาเกมลง iOS นั่นคือสามารถลงได้ทั้ง iPhone และ iPad โดยใช้ภาษา Swift และ SpriteKit (framework สำหรับพัฒนาเกม 2 มิติ) ของค่าย Apple โดยในตอนแรกนี้เป็นเรื่อง การพัฒนาเกมบนมือถือ จะกล่าวถึงการพัฒนาเกมบนมือถือเบื้องต้น

ก่อนอื่นมาดูประเภทเกมมือถือกันก่อน ตามที่ Apple ได้จัดหมวดหมู่ของเกมใน App Store ได้แบ่งเกมออกเป็น 19 หมวด ดังนี้

1. Action
2. Adventure
3. Arcade
4. Kids
5. Puzzle
6. Racing
7. Role-Playing
8. Simulation
9. Sports
10. Strategy
11. Board
12. Card
13. Casino
14. Family
15. Music
16. Trivia
17. Word
18. Dice
19. Educational

นอกจาก 19 หมวดนี้ ก็มีการแยกหมวดใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือหมวด Augmented Reality Game (AR Game) ซึ่งเป็นการเอาบรรยากาศจริงกับโลกเสมือนเข้าไปอยู่ในโลกของเกม ทำให้น่าสนใจมากขึ้น

ถ้าพูดถึงการทำเกมลงมือถือมีจุดเด่นอย่างไรเมื่อเทียบกับการทำเกมลงพีซีหรือแพลตฟอร์มอื่น ก็ต้องบอกว่ามีจุดเด่นหลายอย่าง ยกตัวอย่างจุดเด่น ดังต่อไปนี้

1. ใช้เงินลงทุนไม่สูง เนื่องจากว่าทำเกมลงมือถือ ไม่จำเป็นต้องทำเกมขนาดใหญ่ ดังนั้นใช้คนไม่มาก จึงทำให้ต้นทุนในการพัฒนาน้อย

2. ใช้เวลาในการพัฒนาน้อย อาจจะ 2-6 เดือน หรือถ้าเป็นเกมที่มีความซับซ้อนก็ 6-12 เดือน

3. ช่วงเวลาของเกมสั้น เกมมือถือบางเกมช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมอาจไม่นานนัก ทำให้การดูแลผู้เล่นเป็นช่วงสั้นๆ แล้วอัพเดทเวอร์ชันใหม่

4. ขายผ่านผู้ให้บริการได้เลยโดยตรง ถ้าเป็น iOS ของค่าย Apple ก็ฝากขายผ่าน App Store ได้เลย

5. สามารถขายของได้ต่อเนื่อง เช่น ขายไอเทมในเกม ผ่าน in-app purchase

6. สามารถใช้คุณลักษณะพิเศษที่ติดมากับมือถือในการออกแบบเกมได้ เช่น การใช้ Location based คือการนำเอาตำแหน่งของผู้เล่นมาใช้ในการออกแบบเกม หรือการใช้กล้องเพื่อใช้ประกอบการทำ AR Game เป็นต้น

รูปที่ 1 เกม Pokemon Go

 

ถ้าจะพูดถึงกระบวณการผลิตเกมมือถือ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ Developers หรือนักพัฒนา, Publishers หรือผู้จำหน่าย และ Operators หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยภาพรวบสรุบง่ายๆ ดังรูปที่ 2


รูปที่ 2 กระบวณการผลิตเกมมือถือ

 

แล้วถ้าจะพูดถึงว่าทำเกมแบบไหนให้ขายได้ ทำเกมแบบไหนให้คนชอบ และมีคนเล่นเยอะๆ ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

ก็ต้องบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าเกมไหนจะ ปัง! หรือเกมไหนจะ แป๊ก!

แต่เขาก็บอกกันว่ามันมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกมประสบความสำเร็จ หรือมีโอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งมีปัจจัยดังนี้

  1. ความใหม่ เช่น สไตส์การเล่นเกมใหม่ วิธีการใหม่ เทคโนโลยีใหม่ รูปแบบการเล่นใหม่ๆ
  2. ใช้คุณลักษณะเด่นๆ ของมือถือ เช่นใช้ ตำแหน่งของผู้เล่น ใช้กล้อง AR เป็นต้น
  3. ทำลงหลายๆ แพลตฟอร์ม เช่น ทำลงทั้ง iOS และ Android
  4. ทำเกมสำหรับกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ เล่นได้หลายช่วงอายุ
  5. มีรูปแบบการเล่นง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งเป็น Casual Game นั่นเอง
  6. พยายามผสมโลกโซเชียลเข้าไปด้วย เช่น มีจัดอันดับคะแนน มีจัดแข่งขันกัน เป็นต้น

 

ทั้งหมดที่เขียนมาข้างต้นเป็นการกล่าวถึงการทำเกมบนมือถือเบื้องต้นภาพรวม ก่อนที่จะลงมือใช้โปรแกรมและเขียนโปรแกรมในตอนต่อๆ ไป

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://www.comp.nus.edu.sg
http://www.nintendo.com
https://developer.apple.com
https://king.com/game/candycrush

 

Aj.Montri